ท่านพุทธทาสบอกว่า การเมืองเป็นความหมายที่ 3 ของธรรมะ คือ เป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ กฎของความเป็นปกติ

"ธรรมะกับการเมือง เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ ; แยกกันเมื่อไร การเมืองก็กลายเป็นเรื่องทำลายโลกขึ้นมาทันที"

นักปรัชญาการเมืองแต่โบราณ ขอร้องให้ทุกคนเป็นสัตว์การเมือง (political animal) คือมีหน้าที่สนใจการเมือง ร่วมกันจัดสังคมให้อยู่กันอย่างสงบสุขโดยไม่ต้องใช้อาชญา ; แต่คนสมัยนี้ทำได้มากเกินไป ขนาดที่เรียกว่า การเมืองขึ้นสมอง แล้วใช้การเมืองนั้นเองกอบโกย หรือฟาดฟันผู้อื่น ครอบงำผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว. ดังนั้น แทนที่การเมืองจะตั้งอยู่ในฐานะเป็นเรื่องศีลธรรม ก็กลายเป็นเรื่องอุปัททวะจัญไรในโลกไปเสีย

เมื่อกล่าวโดยปรัชญาทางศีลธรรม การเมืองก็คือหน้าที่ของมนุษย์ ที่เขาจะต้องประพฤติกระทำ ให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอันเฉียบขาด เพื่อผลคือ การอยู่กันเป็นผาสุก โดยไม่ต้องใช้อาชญา. แต่เมื่อไม่มีการคำนึงถึงศีลธรรมกันเสียแล้ว การเมืองก็กลายเป็นเรื่องสกปรก สำหรับหลอกลวงกัน อย่างไม่มีขอบเขต จนกระทั่งโลกนี้กลายเป็นโลกแห่งการหลอกลวงไปเสีย ; มีแต่สัตว์การเมือง ที่เป็นสัตว์เอาเสียจริงๆ กล่าวคือ บูชาเรื่อง กิน-กาม-เกียรติ แทนสันติสุข"

การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์ในทุกระดับ ตั้งแต่ท้องถิ่นไปถึงระดับโลก ท่านบอกว่า "ระบอบประชาธิปไตยนั้นเหมาะสำหรับคนที่มีธรรมะ พอไม่มีธรรมะ ประชาธิปไตยก็เป็นเครื่องทำลายโลก" (หน้า 403)

ท่านสรุปเรื่องการเมืองว่า "โลกนี้มีแต่ประชาธิปไตยที่กอบโกย ไม่มีประชาธิปไตยเมตตากรุณา" ที่เห็นแก่ผู้อื่น ที่ท่านเรียกว่า "ธรรมิกสังคมนิยม"

ท่านพุทธทาสยอมรับว่า "การที่จะมีการเมืองในระบบธรรมะยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาที่อาจจะมากเกินไปก็ได้ คนส่วนมากเขาฟังแล้วเขาจะเห็นว่าเป็นเรื่องละเมอเพ้อฝัน ที่จริงมันก็เป็นเรื่องละเมอเพ้อฝันอยู่สำหรับสมัยนี้ แต่เราก็มิได้หมายความว่าจะต้องไม่สนใจ ในเมื่อมันไม่มีทางอื่นนอกไปจากที่จะพยายามทำความฝันให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา" (หน้า 378)

ที่มา : หนังสือ"ธรรมะกับการเมือง" บรรยายที่ลานหินโค้งทุกวันเสาร์ต่อกันหลายสัปดาห์เมื่อปี 2519 พิมพ์รวมเล่มปี 2522 จะพบหลายวรรคหลายตอนในบทอนุโมทนาที่เขียนด้วยลายมืออันสวยงามของท่านพุทธทาส ซึ่งให้คำอธิบายอันเป็นแก่นของแนวคิดเรื่องธรรมะกับการเมือง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น